EM ball จุลินทรีย์บำบัดน้ำเน่าเสีย จากน้ำท่วม


EM ย่อมาจากคำว่า  Effective Microorganisms  มีความหมายว่า กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ มีลักษณะเป็นของเหลว สีน้ำตาล กลิ่นหวานอมเปรี้ยว เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารเคมีหรือ ยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ พืช และแมลงที่เป็นประโยชน์ ช่วยปรับสภาพความสมดุลของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ ที่ทุกคนสามารถนำไปเพาะขยายเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง

EM Ball จะนิยมใช้ในกรณี คูคลอง แม่น้ำ ที่เป็นแหล่งน้ำ ที่น้ำไหลตลอดเวลา โดย EM Ball จะสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศ เมื่อจมลงที่ก้นคลองจะช่วยย่อยตะกอน เน่าเสีย สามารถสร้างอาหารสัตว์เล็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มแพลงก์ตอนพืชให้เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และเกิดแพลงก์ตอนสัตว์เพื่อเป็นอาหารที่ดีของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ รวมทั้งเป็นการเพิ่ม จุลินทรีย์ดีในน้ำเมื่อก้นคลองหรือแม่น้ำมีจุลินทรีย์ ดีมากขึ้น ก้นคลองจะเริ่มสะอาด มีปริมาณออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้นได้

นอกจากนี้จุลินทรีย์กลุ่มที่มีประสิทธิภาพจะช่วยย่อยสลายตะกอนมากขึ้น สารพิษในน้ำที่ก่อให้เกิดมลภาวะก็จะลดน้อยลง ระบบนิเวศในแม่น้ำลำคลองก็จะ ค่อยๆดีขึ้น เพื่อที่จะรักษาสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ จะขาดไม่ได้ จุลินทรีย์ผู้เปรียบเสมือนวีรบุรุษนี้ก็จะช่วยในการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ เช่น กุ้งหอย ปูปลา พร้อมกับสภาพคูคลอง แม่น้ำที่สะอาดบริสุทธิ์

EM Ball  คือการทำโบกาฉิให้เป็นก้อนกลม  เพื่อนำไปใช้ในการบำบัดสิ่งแวดล้อม เพราะวัสดุที่ทำโบกาฉิ จะประกอบไปด้วย รำละเอียด แกลบ และมูลสัตว์ เมื่อนำโบกาฉิไปบำบัดสิ่งแวดล้อมแล้วจะลอย ทำให้การบำบัดน้ำเสียไม่กระจายไปถึงน้ำเสียส่วนที่อยู่ด้านล่างและขี้เลนส่วนล่างสุดในบ่อได้ ดังนั้น ดังโหงะจึงเป็นนวัตกรรมที่ใช้รักษาน้ำเสียที่เกิดจากขี้เลนก้นบ่อกระจายจากส่วนล่างถึงส่วนบนอย่างทั่วถึง มีขั้นตอนการทำดังนี้
ขั้นที่ 1 การทำอีเอ็มโบกาฉิ
วัสดุ

1. รำละเอียด              1   ปี๊บ
2. มูลสัตว์                   1   ปี๊บ
3. แกลบ                     1   ปี๊บ
4. ถังน้ำ 10 ลิตร        1   ใบ
5. จุลินทีย์อีเอ็ม          20 ซี.ซี. (2 ช้อนโต๊ะ )
6. กากน้ำตาล             20   ซี.ซี.
7. จอบ หรือ พลั่ว       1  อัน

วิธีทำ

1. นำมูลสัตว์ และแกลบคลุกให้เข้ากัน
2.  เติมน้ำลงในถัง 10 ลิตร แล้วเติมจุลินทรีย์อีเอ็มและกากน้ำตาลลงไปอย่างละ 20 ซี.ซี. คนให้เข้ากัน รดลงที่ส่วนผสมของมูลสัตว์และแกลบ (ในข้อ 1) ให้มีความชื้นพอหมาด ๆ ให้น้ำกระจายทั่วทุกส่วนอย่าให้น้ำเปียกหรือแฉะ ใช้มือกำอย่าให้มีน้ำซึมผ่านออกมา (น้ำผสมอีเอ็ม 10 ลิตรอาจจะใช้ไม่หมด)
3. โรยรำละเอียดให้รำข้าวกระจายทั่วถึง จะเกิดความชื้นหมาด ๆ พอดี

การหมัก
การหมักเพื่อให้จุลินทรีย์อีเอ็มเพิ่มจำนวนประชากรอีเอ็มเพิ่มมากขึ้น มีการหมัก 2 แบบคือ
1. หมักโดยกองกับพื้นให้สูงจากพื้นประมาณ 20 เซนติเมตร คลุมด้วยกระสอบป่านภายใน 5 ชั่วโมงจะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 50 องศาเซลเซียส ในวันที่ 2 และวันที่ 3 ให้คลุกผสมใหม่ นำกระสอบคลุมไว้เหมือนเดิม เมื่อครบ 5-7 วัน ปุ๋ยหมักจะแห้งสนิท สามารถนำไปใช้ หรือเก็บรักษาไว้ในที่ร่ม
2.  หมักในกระสอบพลาสติก บรรจุลงในกระสอบพลาสติกสานที่มีรูระบายอากาศได้ดี ประมาณ ? กระสอบ มัดปากกระสอบนอนไว้เก็บในที่ร่มอากาศถ่ายเท เมื่อถึงวันที่ 2 และวันที่ 3 ให้พลิกกระสอบ เพื่อให้จุลินทรีย์อีเอ็มสร้างสปอร์หรือเพิ่มจำนวนประชากรทุกส่วนได้อย่างทั่วถึง เมื่อ 5-7 วันปุ๋ยหมักจะแห้งสนิท

ขั้นที่ 2 การทำดังโหงะ หรืออีเอ็มบอล คือการทำอีเอ็มโบกาฉิที่แห้งสนิทแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนกลม เพื่อง่ายหรือสะดวกในการโยนลงในแหล่งน้ำเสีย จะทำให้การบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น มีการทำดังนี้
วัสดุ

1. น้ำสะอาด 10  ลิตร ผสมอีเอ็ม และ กากน้ำตาลลงในน้ำอย่างละ 2 ช้อน
2. นำโบกาฉิที่แห้งสนิทแล้วมา 1 ปี๊บ
3. นำดินเหนียว หรือ ดินร่วนมา 1 ปี๊บ
4. นำรำละเอียดมา 1/2  ปี๊บ

ขั้นตอนการทำ
1. เอาโบกาฉิ และ ดินเหนียวคลุกผสมกัน พร้อมทั้งรดด้วยน้ำผสมอีเอ็มจากข้อ 1 รดลงในส่วนผสมจนเกิดความชื้นพอหมาด ๆ อย่าให้แฉะพอปั้นให้เกิดก้อนกลม ๆ
2. เอารำละเอียดลงคลุกผสมแล้วปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ทรงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร
3. นำก้อนทรงกลมมาวางเรียงกันในที่ร่ม ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทประมาณ 10 วัน *  EM Ball ห้ามตากแดด เพราะจะทำให้จุลินทรีย์ตาย ไร้ประโยชน์ในการบำบัด

ประโยชน์และการนำไปใช้
ดังโหงะ คือ อีเอ็มก้อนที่มีจำนวนประชากรของอีเอ็มรวมกันอยู่อย่างหนาแน่น ใช้สำหรับบำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีเอ็มจะย่อยก๊าชแอมโมเนีย ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์จนเป็นน้ำที่สะอาด โดยปริมาณน้ำเสีย 10 ลูกบาศก์เมตร จะใช้ดังโหงะประมาณ 2-5 ก้อน

 

http://youtu.be/Vul5OZ35Xa0

 

ที่มา : www.krukovit.com   www.rubberthai.com

 

 

lgblogger.com

3 thoughts on “EM ball จุลินทรีย์บำบัดน้ำเน่าเสีย จากน้ำท่วม

  1. mnjph

    ที่น่าสังเกตคือไม่มีใครมาพูดถึงหลักเคมีเบื้องต้นเลยครับ สสารไม่สามารถถูกสร้างหรือทำลายได้ด้วยกระบวนการทางเคมี ดังนั้น ธาตุที่มีอยู่เดิมต้องมีเท่าเดิม แต่อาจเปลี่ยนรูปแบบการรวมตัวเป็นโมเลกุลสารประกอบได้
    ปัญหาหลักของน้ำเสียมี 2 ประการ ได้แก่ กลิ่นเหม็น และสารพิษ ในเรื่องสารพิษแน่นอนว่ากระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ด้วยแบคทีเรียย่อมมุ่งหวังเฉพาะในส่วนของการลดกลิ่นเหม็นจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ ไม่เกี่ยวกับการลดสารพิษอนินทรีย์ในน้ำแต่อย่างใด
    ปัญหาหลักของกลิ่นเหม็นคือการเปลี่ยนรูปสารประกอบอินทรีย์ (คาร์บอน-C ออกซิเจน-O ไฮโดรเจน-H และไนโตรเจน-N และธาตุประกอบอื่นๆ) โดยเฉพาะในส่วนของคาร์บอน หรือย่อว่า C นั้นตามปกติแล้วหลังการย่อยสลายจะเกิดสารประกอบใหม่ที่มีโมเลกุลเล็กลง ซึ่งแบคทีเรียจะช่วยในการย่อยสลายนี้ โดย แบคทีเรียประเภท แอโรบิค จะใช้ออกซิเจน หรือ O ซึ่งละลายในน้ำเพื่อเปลี่ยนรูปแบบสารอินทรีย์โดยเฉพาะในส่วนของไนโตรเจนให้เป็นสารประกอบที่ไม่มีกลิ่น แต่หากไม่มีออกซิเจนจะเป็นสารประกอบที่มีกลิ่นเหม็น เช่น CH4 หรือมีเทน เหมือนการหมักก๊าซชีวภาพครับ ดังนั้นถึงจะมีแบคทีเรียดีแค่ไหน แต่หากไม่มีการเติมออกซิเจนเข้าไปในน้ำก็ย่อมไม่มีทางบำบัดน้ำได้ตามที่อ้างครับ ก็มันไม่มีธาตุจำเป็นมารวมเป็นสารประกอบ แล้วจะใช้เวทมนต์ที่ีไหนเสกมาครับ ที่บอกว่าใช้ EM แล้วได้ผลก็จะเป็นกรณีแหล่งน้ำที่มีกังหันเติมอาการร่วมด้วยครับซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยกับน้ำมหาศาลแบบนี้
    อาจารแตงอ่อนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์จึงอาจไม่ทราบถึงความจริงข้อนี้ครับ และไม่เข้าใจถึงความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้อย่างมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ครับ ก็น่าสงสารเหมือนกันที่ต้องมาโต้กับนักวิชาการเฉพาะด้านที่มีความรู้จริง ผมยังงงเลยว่าทำไมไม่เอานักวิทยาศาสตร์เฉพาะทางที่มีความรู้มาคุย (แต่ก็อาจหายากครับ เพราะพวกเขาอาจรู้ว่าอะไรเป็นอะไร และรู้ถึงผลวิจัยที่ไม่โปร่งใสที่ตนเผยแพร่มาโดยไม่รู้ว่าจะมาถูกเปิดเผยในสถานการณ์น้ำท่วมที่เกินความคาดคิดเช่นนี้)
    ในคำอ้างที่ว่ามีการศึกษาทดลองแล้วได้ผลก็เช่นกัน หากเป็นผู้ซึ่งอยู่ในวงการการทำวิจัยซึ่งว่าจ้างโดยรัฐบาลจะรู้ดีว่ามีความน่าเชื่อถือน้อยมาก ในช่วงเริ่มต้นการวิจัยหรือก่อนที่การวิจัยจะสิ้นสุดลง ข้าราชการระดับสูงทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองมักให้ข้าวในแง่บวกต่อการศึกษา เช่น EM นี้มีผลดีมาก หรือมีประโยชน์จริงเป็นต้น เพราะหากบอกกับประชาชนหรือผู้ร่วมสัมนาว่ายังไม่รู้ผลศึกษาก็เหมือนว่าตนไม่รู้เรื่องอะไร แต่ถ้าบอกว่าไม่ได้ผลก็เท่ากับว่าเอาเงินภาษีมาทิ้งกับการวิจัยที่ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นคำตอบจากปากพวกเขาก็มักเป็นว่างานทดลองประสบความสำเร็จครับ สำหรับผู้ทำวิจัยนั้น แน่นอนว่าย่อมรู้มากกว่าถึงประโยชน์ของ EM แต่พวกเขาก็อยู่ในทั้งฐานะผู้วิจัยที่ควรมีจรรยาบรร และในฐานะของผู้รับจ้างซึ่งอยากเลี่ยงการขัดใจผู้ว่าจ้างภาครัฐซึ่งมีอำนาจในการตัดงบหรือขึ้นบัญชีดำเลิกจ้างนักวิชาการกลุ่มนี้ไปตลอดชีวิตหากมีผลการศึกษาที่หักหน้าข้าราชการชั้นสูงและนักการเมืองเหล่านั้น นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงนะครับ เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปในหมู่อาจารย์มหาวิทยาลัยและบริษัทที่ปรึกษา (consultant) ครับ
    จะบอกว่ามันไม่ได้ผลเลยผมก็ต้องบอกว่าไม่จริงครับ แบคทีเรียอาจช่วยให้ย่อยสลายสารอินทรีย์ได้เร็วขึ้นจริง แต่ในขณะที่มันเหม็นเป็นเวลาสั้นลงมันก็ทำให้เห็นมากขึ้นด้วยครับ เลือกเอาครับ เหม็นน้อยเหม็นนานหรือเหม็นมากเหม็นสั้นกับ EM แต่ถ้าจะให้ไม่เหม็นก็ต้องเติมอากาศเท่านั้นครับ
    หวังว่าข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ในการแยกแยะระหว่างเวทย์มนต์กับวิทยาศาสตร์ ระหว่างความสามัคคีในการปั้น EM Ball กับความสูญเปล่าของเวลาและแรงกายซึ่งน่าจะไปทำประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้ประสบภัย และระหว่างการทำดีและการทำในสิ่งที่คิดว่าดี ครับ
    จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการเผยกระบวนการทางเคมีที่แบคทีเรียใน EM ใช้ในการบำบัดน้ำเลยครับ อาจเป็นเพราะไม่มีข้อมูลจริงๆ (ตอนศึกษาก็แค่ใช้มันเติมแบคทีเรียและเติมอากาศจนน้ำสะอาดเฉยๆ พอเห็นว่าดีก็บอกว่าได้ผล) หรืออาจเป็นเพราะรู้แล้วว่ามันไม่ได้ผลจริงก็ไม่อาจทราบได้
    มาช่วยกันแบ่งบันความรู้นี้ไปยังบอร์ดต่างๆ ให้ด้วยนะครับ

    Reply
  2. Pingback: em ball บําบัดน้ำเสีย | Review Trend

  3. จุลินทรีย์ Em

    ผมขออนุโมทนากับ ผู้ที่ทำ EM BALL เพื่อช่วยบำบัดน้ำเสียทุกท่านครับ ใช้ได้จริงนะครับ EM ผมได้รับการยืนยันจากผู้ใช้งานจริงมาเยอะ

    Reply

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.