ควรดูแลรถที่จมน้ำ อย่างไรเมื่อนำขึ้นมาได้?

จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่นี้นอกจากบ้านเรื่อน ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายแล้ว รถยนต์ก็เป็นอีกทรัพย์สินหนึ่งที่มูลค่าสูงและได้รับความเสียหายเยอะพอๆกับบ้านเรือน เรามาดูวิธีการดูแลรถหลังจากนำขึ้นมาจากน้ำได้แล้ว ดังนี้

1.  อย่าพยายามรีบร้อนติดเครื่องยนต์รถที่เพิ่งเอาขึ้นจากน้ำ หรือน้ำลดลงไปจากการท่วมมิดเครื่องยนต์เป็นอันขาด เพราะน้ำที่แทรกซึมอยู่ในเครื่องยนต์อาจจะทำให้กลไกภายในตัวเครื่อง เช่น ก้านสูบกับก้านกระทุ้งวาล์วได้รับความเสียหาย

2. ห้ามพ่วงต่อกระแสไฟ เช่น พ่วงแบตเตอรี่ เพื่อติดเครื่องยนต์รถที่ใหม่กว่ารุ่นปี ค.ศ. 1989 หรือ พ.ศ. 2532 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แอลเทอร์เนอเตอร์ซึ่งมักจะเรียกกันง่ายๆ ว่าไดชาร์จ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆที่มีติดตั้งอยู่ เช่น กล่องสมองกลไฟฟ้าควบคุมเครื่องยนต์ (ECU) กล่องควบคุมเกียร์หรือระบบควบคุมการทรงตัว ระบบช่วยเสริมแรงเบรก หรือระบบป้องกันล้อล็อก รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบให้ความบันเทิงเสียหายจนใช้ไม่ได้ ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วมีราคาค่าตัวสูงมาก

3. เมื่อรู้ว่าไม่สามารถขนย้ายรถยนต์ส่วนตัวออกจากพื้นที่ที่น้ำท่วม ควรถอดสายไฟที่เชื่อมต่อกับแบตเตอรี่ออกทันที แล้วยกแบตเตอรี่ออกจากช่องเก็บ ถ้าทำไม่ทัน แบตเตอรี่จมน้ำอยู่อาจทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งจะตามมาด้วยความเสียหายในระดับที่ร้ายแรง เมื่อน้ำแห้งแล้ว วงจรของการเชื่อมต่อระหว่างสายไฟขั้วบวก-ลบ หากยังไม่เอาสายไฟที่เชื่อมต่อออก แล้วมีกระแสเข้าไปมันจะก่อให้เกิดการลัดวงจรแบบทันทีทันใด จึงควรรีบถอดสายแบตเตอรี่ออกทันทีที่สามารถกู้รถให้พ้นจากพื้นที่น้ำท่วม

4. ก่อนที่จะต่อขั้วแบตเตอรี่เข้ากับรถอีกครั้งหลังจากพ้นน้ำแล้ว จำเป็นจะต้องปลดฟิวส์ในกล่องควบคุมของระบบถุงลมนิรภัยเพื่อตัดการทำงาน หากวงจรไฟฟ้าในระบบถุงลมนิรภัยเกิดลงดินหรือช็อตลัดวงจรโดยที่ยังไม่ได้ปลดฟิวส์ออก ถุงลมนิรภัยของใหม่ที่มีมูลค่าหลายหมื่นบาทในรถยนต์แทบทุกรุ่นหรือบางรุ่น ราคาเป็นแสน (ทั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า-หลัง ม่านนิรภัย) อาจระเบิดขึ้นเองได้จากการลัดวงจรของระบบ

5. เมื่อทำการตรวจสอบรถยนต์ ที่เพิ่งกู้ให้พ้นจากพื้นที่น้ำท่วมแล้ว หากพบน้ำในที่เขี่ยบุหรี่ แสดงว่าน้ำคงเข้าไปถึงระบบไฟฟ้าบนหน้าปัดหรือคอนโซล มาตรวัด จอมัลติฟังก์ชั่น และสวิตช์สั่งงานควบคุมระบบต่างๆ วงจรของระบบเหล่านั้น สามารถนำออกมาทำความสะอาดและเป่าแห้งโดยช่างผู้ชำนาญ แต่มันอาจตามมาด้วยปัญหาของวงจรในการใช้งานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จมน้ำ หรือเปียกน้ำ อายุการใช้งานอาจสั้นลงมาก

6. ระบบส่งกำลัง แบบเกียร์อัตโนมัติกับชุดทอร์กคอนเวิร์ตเตอร์ ต้องถอดออกมาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันไฮดรอลิกและแยกชิ้นส่วนทั้งหมดออกมาทำความสะอาดทุกชิ้นส่วน รวมถึงน้ำมันเฟืองท้ายและชุดฟันเฟืองของเฟืองท้าย ชุดส่งกำลังทรานสเฟอร์ของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ

7. เมื่อตรวจสอบระบบส่งกำลัง ควรตรวจเช็กลูกปืนล้อทั้งสี่ล้อ โดยนำออกมาทำความสะอาดแล้วอัดสารหล่อลื่นพวกจาระบีใหม่ทั้งหมด

8. ยางหุ้มเพลาที่ขาด อาจมีน้ำเข้าไปแทนที่จาระบีภายใน ต้องถอดออกมาทำความสะอาดเปลี่ยนยางหุ้มเพลาใหม่ และอัดจาระบีหลังจากทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว รวมถึงลูกปืนล้อทั้งสี่ก็ต้องถอดออกมาทำความสะอาดแล้วอัดจาระบีด้วยเช่นกัน

9. ระบบระบายความร้อน เช่น หม้อน้ำ ต้องถ่ายน้ำในหม้อน้ำทิ้งทั้งหมด แล้วเติมน้ำใหม่พร้อมน้ำยาลดอุณหภูมิน้ำตามระดับที่กำหนดในคู่มือประจำรถ พัดลมไฟฟ้าอาจได้รับความเสียหายเนื่องจากแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน มอเตอร์พัดลมข้อต่อสายไฟต่างๆ ถอดออกแล้วทำความสะอาดโดยการเป่าแห้งแล้วตากแดด หากโชคดีอาจทำงานได้เหมือนเดิม

 


10. รถที่จอดแช่น้ำ เพียงแค่ครึ่งล้อเป็นเวลานานจะทำให้ระบบเบรกเกิดความเสียหาย บางรายถึงกับต้องซ่อมหรือเปลี่ยนเบรกกันทั้งระบบ ตรวจเช็กโดยการเปลี่ยนของเหลวพวกน้ำมันเบรก สายไฟเซนเซอร์ของระบบช่วยเบรก พวก ABS /BA ในรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีติดตั้ง ข้อต่อสายไฟที่เชื่อมต่อกับชุดควบคุม ลองถอดออกแล้วทำความสะอาด เป่าขั้วต่อให้แห้งก่อนการเสียบกลับคืนเพื่อทดสอบว่ามันยังสามารถใช้งานได้ หรือไม่

11. แร็คพวงมาลัย โดยเฉพาะพวงมาลัยแบบพาวเวอร์ทั้งปั๊มไฟฟ้าและปั๊มสายพาน ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องตรวจระบบรองรับพวกโช๊คอัพ ลูกหมากปีกนก ยางรองรับห่อหุ้ม ควรเปลี่ยนถ้าพบความเสียหายหรือไม่แน่ใจ

12. กล่อง ฟิวส์ รีเลย์เซ็นเซอร์ ต้องได้รับการตรวจเช็กให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรเสียหาย โดยเฉพาะกล่องฟิวส์ถ้าเกิดมีการจมน้ำเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนใหม่ทันที รวมถึงจานจ่าย เพราะหากใช้งานต่อไปมักทำให้เครื่องยนต์สั่น แผงวงจร ล้างทำความสะอาจด้วยน้ำ หลังจากนั้นจึงนำไปอบที่ความร้อน 120F (120 องศาฟาเรนไฮต์) ประมาณ 30 นาที แล้วพ่นด้วยสเปรย์แล็กเกอร์เคลียร์ก่อนจะนำมาใช้ใหม่ ซึ่งมันอาจได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ก็อาจมีความเป็นไปได้

13. ตรวจสอบระบบปรับอากาศ คลัตซ์ของคอมเพรสเซอร์แอร์ อุปกรณ์ที่เสี่ยงต่อความเสียหายมากทีี่สุดหลังจากแช่น้ำ คือ ชุดควบคุมอุณหภูมิแบบดิจิตอลภายในห้องโดยสาร

14. ถอดพรมรองพื้นออกมาทำความสะอาดทั้งหมด แล้วผึ่งรถ โดยจอดตากแดดเปิดประตูทุกบานจนกว่าจะแน่ใจว่าภายในแห้ง และมีกลิ่นอับลดลง

15. ลากไปอู่  อาจเป็นข่าวดีและฝันร้ายสำหรับบรรดาช่างเครื่องทั้งหลายที่คงจะต้องมีงาน ให้ลากยาวถึงปีใหม่กันเลยทีเดียว แต่เมื่อคุณคิดว่าพร้อม ก็จัดการลากไปให้ผู้เชี่ยวชาญดู โดยกำชับว่ารถคุณถูกน้ำท่วมมา ซึ่งปกติแล้วจะแยกเป็น 2 กรณี
กรณีแรกที่น้ำท่วมไม่เยอะนั้นระบบ เครื่องยนต์อาจจะได้รับความเสียหายเล็กน้อย โดยเฉพาะถ้าน้ำท่วมไม่มากจนรถของคุณไม่ดำน้ำลงไปทั้งคันนั้น ช่างก็จะไล่ระบบอากาศ โดยเฉพาะกรองอากาศจะต้องลดความชื้น ตรวจสอบหัวเทียน และกล่องควบคุมการทำงาน ที่ต้องมีการไร้ความชื้นเป็นอย่างดี ก่อนที่ช่างจะสตาร์ทเครื่อง ซึ่งโดยมากก็จะมีค่าใช้จ่ายระดับ 5000 -10000 บาท
กรณีที่ 2 ท่วมแบบจมหายทั้งคันนั้น โดยมาก ช่างจะต้องทำงานกันหนักหน่อย และนั่นอาจหมายถึงการผ่าเครื่องยนต์ เพื่อตรวจสอบน้ำที่เข้าสู่เสื้อสูบว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด และทำการไล่น้ำความชื้น และถ้าเครื่องของท่านมีอาการหลวมร่วมด้วยอยู่แล้ว มันก็เป็นโอกาสที่จะโอเวอร์ฮอลเครื่องยนต์ไปพร้อมกัน เพราะยังไงช่างต้องผ่าเครื่องออกอยู่แล้ว

 

รถจมน้ำส่วนใหญ่ หลังจากแก้ไขปัญหาจากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด อาจไม่สามารถกลับมาทำงานปกติเหมือนเดิมได้ บางระบบอาจรวนจนเจ้าของต้องขายทิ้ง ขอให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยดีครับ.

 

ที่มา :   www.trrheaderturbo.com , www.rakcar.com

 

 

 

lgblogger.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.